อนาคต 20 ปีข้างหน้าประเทศไทย
หลายท่านคงเคยคิดหาคำตอบหรือแอบคิด แต่บางท่านก็อาจจะไม่เคยคิดหรือไม่อยากคิด เพราะไม่รู้ว่าจะคิดไปทำไม แต่การคาดการณ์ถึงทางเลือกอนาคตที่เป็นไปได้ จะช่วยให้เราวางแผนที่จะให้มีอนาคตที่พึงปรารถนาได้ในระดับหนึ่ง เช่น หากเราเห็นแนวโน้มว่า บางอุตสาหกรรมในประเทศจะต้องเลิกไปเพราะปัจจัยเงื่อนไขของค่าแรง พลังงาน เราอาจไม่เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้น
แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ พลังงาน สังคม และการเมือง เพื่อหาแนวโน้มที่แต่ละท่านคิดว่าจะเกิดขึ้น และให้อธิบายว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น ได้ข้อสรุปดังนี้ คือ
(1) ในด้านเศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นศูนย์การด้านบริการ ทั้งด้านการท่องเที่ยวการเงินและตลาดหลักทรัพย์ การขนส่ง (Logistics) ในอาเซียน เนื่องจากการบริการขนส่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยทำเลที่ตั้ง (Location Specific Industry) ประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งอยู่แล้วโดยเฉพาะรัฐบาลได้ปรับข้อสมมติฐานพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เคยอาศัยค่าแรงต่ำ และพลังงานถูกมาเป็นอาศัยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และได้เปลี่ยนความฝันจากโชติช่วงชัชวาลมาเป็น connectivity hub หากความฝันใหม่เป็นจริงประเทศไทยจะกลายเป็นดูไบแห่งอุษาคเนย์
(2) การท่องเที่ยวจะเป็นภาคธุรกิจจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดเข้ามาทดแทนภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ตั้งของประเทศไทยเหมาะสมที่ให้คนจีนและคนอินเดียจะมาเที่ยวเมื่อออกเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก เนื่องจากอินเดียกับจีนมีประชากรสูงนักท่องเที่ยวก็จะมากเป็นเงาตามตัว แต่การท่องเที่ยวจะสร้างความยุ่งยากทางสังคมให้กับคนท้องถิ่นเหมือนกัน เพราะนักท่องเที่ยวจะมาแย่งชิงแย่งใช้ทรัพยากรกับคนไทย เช่น แย่งใช้ชายหาด แย่งใช้ BTS ฯลฯ บริการท่องเที่ยวไม่เหมือนการส่งออกสินค้าเพราะเป็นบริการที่ต้องสัมผัสกับคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมตลอดเวลา คนไทยต้องยอมเปิดกว้างรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้มากขึ้น จะเป็นคนถือผิวชังพรรณไม่ได้
(3) เนื่องจากความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูกได้ค่อยๆ หมดไป และพลังงานในอ่าวไทยก็จะหมดลงในอีก 18 ปี อุตสาหกรรมการผลิตที่จะยังอยู่คืออุตสาหกรรมที่ผลิตปัจจัย 4 คืออาหาร เกษตร ก่อสร้างส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ 5 ที่ยังคงอยู่ได้ (ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายมาทำลายล้างอุตสาหกรรมในทำนองเดียวกับนโยบายจำนำข้าวที่ทำลายอุตสาหกรรมข้าวเพื่อส่งออก) รวมไปถึงSupply Chain ภายใต้อุตสาหกรรมนี้จะยังอยู่แต่ความสามารถในการแข่งขันจะลดลงและอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่เป็นของบริษัทข้ามชาติคนไทยจะได้ประโยชน์จากค่าแรงและทักษะเพิ่มขึ้น
(4) จะมีการขยายตัวของ Megacities โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และเมืองหลักต่างๆ เช่นเชียงใหม่ อุดรธานี หาดใหญ่ ขอนแก่น โดยมีเมืองเล็กๆ จะบริการ เมืองใหญ่เป็นเมืองบริวารและกรุงเทพฯ ก็จะเป็นเมืองบริวารของเมืองอื่นๆ ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกตามสถิติของสำนักเศรษฐกิจแห่งชาติปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในเมืองที่เรียกว่าเทศบาลต่างๆ ประมาณร้อยละ 40 จะเพิ่มขึ้นเป็นคนไทยสองในสามจะอยู่ในเมือง
(5) ในด้านสิ่งแวดล้อมอีก 20 ปีข้างหน้า ภัยพิบัติตามธรรมชาติที่เราสามารถรับมือได้จะน้อยลง แต่ภัยพิบัติที่เราไม่รู้จักและภัยพิบัติที่ใหญ่กว่าในปัจจุบันจะถี่ขึ้น ความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติของไทยจัดอยู่ในระดับที่เรียกว่ายังไม่ดีนักถึงแม้ในอนาคตจะสามารถพัฒนาความพร้อมให้ดีกว่าปัจจุบันได้ก็ตามแต่เรายังขาดความสามารถในการประเมินภัยพิบัติให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงยังต้องใช้วิสัยทัศน์และการมีส่วนร่วมในวงกว้างแต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจในการจัดการภัยพิบัติจะโฟกัสไปที่โครงการแสนล้านมากกว่าจะให้ความสำคัญกับการจัดการให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีส่วนร่วม
ใน 20 ปีข้างหน้า หากปล่อยไปดังปัจจุบันความสามารถของคนไทยที่จะจัดการภัยพิบัตินั้นไม่น่าจะถึงระดับประเทศญี่ปุ่นเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากไม่คุ้นกับวัฒนธรรมความปลอดภัยและมีทัศนคติที่ว่าการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัตินั้นจะหยุดการพัฒนา ทั้งที่ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่าการลงทุนเพื่อป้องกันภัยพิบัติทำให้การพัฒนาช้าลง มาเป็นการคิดหาวิธีการลดภัยพิบัติที่เอื้อต่อการพัฒนา
(6) ที่ประชุมไม่มีข้อยุติว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมจะเป็นอย่างไร มีกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงเพราะการเมืองไทยเปิดโอกาสให้คนรากหญ้าและยอดหญ้ามากขึ้น กลุ่มที่สองเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากระบบเศรษฐกิจไม่ได้ถูกควบคุมด้วยปัจจัยในประเทศอย่างเดียว แต่ระบบเศรษฐกิจไทยนั้นได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือทุนนิยมโลกด้วยธุรกิจเล็กๆ ซึ่งยังไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นระดับนานาชาติได้ก็จะล้มหายตายจากไป
กลุ่มที่สองยังเห็นอีกว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็มักจะเพิกเฉยกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญก็คือ ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า ประเทศไทยขาดเครื่องมือในการปฏิรูปการกระจายรายได้ โดยเฉพาะการเก็บภาษีสำคัญๆ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีจากกำไรหุ้น ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าคนรวยรวยขึ้นกว่าเดิมเร็วขึ้น
(7) คอร์รัปชันในภาครัฐ ส่วนที่ต้องมีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ (เช่น การขอหนังสือเดินทาง การเสียภาษีรายได้) แต่คอร์รัปชันอันมาจากการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่พรรคพวกยังจะไม่ลดลง และอาจจะเลวร้ายมากขึ้น เพราะระบบกำกับธรรมาภิบาลในประเทศยังคงอ่อนแอ แต่ธรรมาภิบาลจากภายนอกกลับมีบทบาทมากขึ้น และมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะมากขึ้นตัวกำกับธรรมาภิบาลจากภายนอกไม่ได้จำกัดอยู่แค่องค์กรระหว่างประเทศที่รัฐบาลยอมรับ เช่น UN WTO WB ฯลฯ แต่ยังรวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน ต่อต้านการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชน องค์กรที่มาใหม่และมีผลต่อรัฐบาลได้แก่ บริษัทจัดลำดับฐานะทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ เช่น กรณีที่รัฐบาลตีสี่ของเราให้ความสำคัญกับบริษัทจัดอันดับประเทศระบุถึงผลเสียจากนโยบายจำนำข้าวมากกว่า การที่จะฟังเสียงข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต และนักวิชาการ
พอมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงอยากถามว่า แล้วการเมืองไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองของเราฟันธงเลยว่า ระเบียบทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไป เนื่องจากประชาชนจะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้นระบบการเมืองไทยส่วนหนึ่งเป็นการเมืองมวลชนไปแล้ว (Mass Politics) ระบบการเมืองไม่ใช่การต่อรองระหว่างพรรคเท่านั้นอีกต่อไป เพราะส่วนที่เป็นการเมืองโดยประชาชนจะเกิดกระจายไปทั่ว ระบบการเมืองปัจจุบันจะไม่เสถียรไปอีก 5 - 10 ปี!!
ต้องท่องคาถา ท.ไทยอดทน (กับนักการเมือง) และต้องเปิด (ใจ) กว้างต่อทุกความคิดเห็นค่ะ