วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
เศรษฐกิจไทยในปี 2558
ประการแรก เป็นที่คาดหมายกันว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงช่วงประมาณกลางปี เนื่องจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐ ยังคงต้องใช้เวลาในการปรับตัวตอบสนองต่อราคาที่ลดลงมา ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบ มีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของบ้านเราคงจะลดลงมาเช่นกัน โดยอาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.2-1.5 เท่านั้น
ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำดังกล่าว น่าจะส่งผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงเดินหน้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการจ้างงานและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด น่าที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงประมาณกลางปี อย่าง ไรก็ตาม คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 นี้ คงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำ รวมถึงเฟดคงไม่ต้องการให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน
ส่วนเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐนั้น คาดว่าจะยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ โดยประเด็นที่ทางการจีนอาจจะต้องเร่งเข้าไปดูแล ได้แก่ ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของภาคเอกชน, ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนโจทย์ระยะยาวนั้นยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลงโดยเฉพาะจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับยุโรป การที่เศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน ทำให้ธนาคารกลางยุโรป อาจจะต้องเพิ่มมาตรการอัดฉีดทางการเงินในขณะที่เงินยูโรอาจจะต้องอ่อนค่าลงไปอีกเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การอ่อนค่าของเงินยูโรและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำประกอบกับการที่สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสินค้าส่งออกจากไทยที่จะหมดลงทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังตลาดยุโรปในปี 2558 คงจะไม่สดใสเท่าใดนัก
ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผมมองว่าเงินเยนอาจจะต้องอ่อนค่าลงไปอีกเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะแม้ว่ารัฐบาลใหม่ของ นายชินโซ อาเบะ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งจะเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก แต่ไม่น่าเพียงพอที่ผลักดันให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะชะงักงันได้ และเช่นเดียวกับเงินยูโร เงินเยนที่อ่อนค่าลงไปอีกนั้น ก็ไม่น่าส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ ยังคงมีประเด็นความเปราะบางของเศรษฐกิจรัสเซีย ที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2558 โดยแม้ว่าค่าเงินรูเบิลในช่วงที่ผ่านมาจะดูเหมือนเริ่มนิ่งขึ้นบ้างแต่การที่รัสเซียยังคงต้องเผชิญกับการ
หดตัวของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินตามมา โดยเฉพาะฐานะของสถาบันการเงินและประเด็นการผิดนัดชำระหนี้
จากแนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าการส่งออกของไทยในปี 2558 นี้ ยังคงเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกไว้เพียงร้อยละ 1.0 เท่านั้น
สำหรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น หลายฝ่ายได้ตั้งความหวังว่าน่าที่จะฟื้นขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 4.0 แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังคงไม่สดใสเท่าใดนัก ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งการเดินหน้าโครงการลงทุนของภาครัฐและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในประเทศ
ทั้งนี้ หากหลังปีใหม่ผ่านไปประมาณ 2-3 เดือนแล้วตัวเลขต่าง ๆ ไม่ได้ออกมาดีอย่างที่หวังกันไว้ คาดว่าคงจะมีเสียงเรียกร้องให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินจะทำได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะกระแสเงินทุนไหลออกและความผันผวนของค่าเงินที่เป็นผลจากการเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจควรต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ รวมถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อาจกระเตื้องขึ้นไม่ได้มากนักเนื่องจากประเด็นหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าเกษตรที่อาจยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากปี 2557
แม้ดูแล้วปี 2558 น่าจะเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่ง แต่ขอให้ท่านผู้อ่านรักษาสุขภาพกายใจ ให้แข็งแรงเตรียมรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ที่จะเข้ามา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น